แมวเป็นโรคไต รักษาหายไหม? รักษายังไง?
โรคไตในแมว (Feline Kidney Disease) ถือเป็นโรคที่เจ้าของต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของโรค เพราะจะส่งผลต่อคุณภาพการรักษาตลอดจนการดูแลแมวที่ป่วยเป็นโรคไต ก่อนอื่นต้องจำแนกประเภทของความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ไตให้ได้ก่อน ในที่นี้หากจะกล่าวโดยสรุปให้เข้าใจง่ายคือต้องแบ่งประเภทของโรคไตที่แมวป่วยให้ได้ก่อน ซึ่งโดยหลักๆแล้วจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ยังสามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการและประคับประคองเพื่อให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้ สำหรับประเภทถัดไป คือ โรคไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure) หากสามารถวินิจฉัยและรักษาได้ในระยะแรกและไม่ปล่อยไว้ให้โรคพัฒนาจนกลายเป็นไตวายแบบเรื้อรัง แมวอาจมีโอกาสฟื้นฟูกลับมาสู่สภาพปกติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคไตในแมวทั้งสองประเภทมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น อย่างที่กล่าวไปในช่วงต้นว่า ถ้าหากเจ้าของมีความเข้าใจธรรมชาติของโรค ก็จะสามารถรักษาดูแลแมวได้อย่างเหมาะสม
โรงพยาบาลสัตว์ดารินรักษ์ มีหมอที่มีประสบการณ์ในการรักษาแมวเป็นโรคไต หากเจ้าของท่านใดมีข้อสงสัยหรือต้องการพาแมวเข้ารับการตรวจรักษาเกี่ยวกับโรคไต สามารถสอบถามเข้ามาตามช่องทางต่างๆได้ทุกวัน หรือหากไม่แน่ใจก็สามารถพาแมวเข้ารับการตรวจสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งจะสามารถคัดกรองโรคไตได้เช่นกัน
สาเหตุของโรคไตในแมว
แมวเป็นโรคไตเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเจ็บป่วยที่รุนแรงในน้องแมว สำหรับสาเหตุนั้นจะแตกต่างกันตามประเภทของโรคไตที่กล่าวไปในตอนแรก คือ
แมวเป็นโรคไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury, AKI)
โรคไตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน หมายความว่า มีระยะเวลาการเกิดสั้น แมวที่มีสุขภาพปกติมาตลอดแล้วเจอปัจจัยโน้มนำก็อาจสามารถเกิดไตวายแบบเฉียบพลันขึ้นมาได้ทันที หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่าง คือ ให้ลองนึกถึงบ้านไม้ 1 หลัง ที่ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ เจ้าของบ้านอยู่ดีมีสุขตลอดมา แต่เมื่อวันหนึ่งเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือแก๊สระเบิด ก็อาจทำให้บ้านทั้งหลังไฟไหม้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว โรคไตวายเฉียบพลันนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แมวฉี่ไม่ออก มีสิ่งอุดตัน นิ่วในไต การได้รับสารพิษ ความเป็นพิษจากการใช้ยารักษาผิด การไหลเวียนเลือดในไตลดลง ความดันสูง โรคฟันเรื้อรัง หรือการติดเชื้อในไต เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้ไตของแมวสูญเสียหน้าที่ไปอย่างรวดเร็ว หรือ เรียกว่า “ไตวายเฉียบพลัน” นั่นเอง และเมื่อไตที่ถือว่าเป็นโรงงานกำจัดของเสียได้สูญเสียหน้าที่ไป ก็จะทำให้ร่างกายแมวทั้งหมดค่อยๆสูญเสียหน้าที่ไปทีละระบบอวัยวะ จนท้ายที่สุดก็ถึงแก่ชีวิต แต่ประการสำคัญที่เจ้าของต้องทราบไว้คือ หากวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมได้ทันท่วงที แมวมีโอกาสฟื้นฟูกลับมาจนเกือบที่จะปกติได้ แต่หากปล่อยไว้ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นภาวะไตวายเรื้อรังในอนาคตได้เช่นกัน
แมวเป็นโรคไตแบบเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease, CKD)
เกิดจากการสูญเสียของฟังก์ชันการทำงานของไตมากกว่า 50% เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขั้นไป โดยที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ หากจะเทียบเคียงให้เห็นภาพ คือ มีบ้านไม้หลังหนึ่งที่ถูกปลวกค่อยๆกัดกินเสา ผนังและคานไม้ ตัวปลวกนี้จะไม่ได้กัดกินทั้งบ้านภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อเสาและคานถูกกัดกินจนรับน้ำหนักไม่ไหว บ้านทั้งหลังก็จะพังลงมา ในส่วนของร่างกายแมวนั้น เมื่อไตถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้นการรักษาจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการและป้องกันที่ไตถูกทำลายเพิ่มขึ้น สาเหตุของโรคไตแบบเรื้อรังในแมว ยกตัวอย่างเช่น การอักเสบหรือโรคอื่นๆในไตเป็นระยะเวลานาน นิ่วในไต การติดเชื้อในไต การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งหรือเนื้องอกในไต หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบฮอร์โมน เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) เป็นต้น
แมวเป็นโรคไต อาการเป็นยังไง
แมวที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) มักจะแสดงอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น แมวดื่มน้ำมากขึ้น แมวฉี่บ่อยขึ้น เนื่องจากไตไม่สามารถดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดได้ นอกจากนี้ แมวยังอาจแสดงอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ซึม อ่อนแรง เหงือกอักเสบและมีกลิ่นปากที่ไม่ปกติ แผลในปาก น้ำลายไหลย้อย อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้รวมถึง การอาเจียน อาเจียนเป็นเลือด ฉี่ปนเลือด ท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายเหลว ถ่ายปนเลือด ถ่ายสีเหมือนโค้ก เหงือกซีด มีภาวะขาดน้ำ เมื่อพบเห็นอาการเหล่านี้ ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจและการรักษาในระยะแรกเริ่ม
การวินิจฉัยโรคไตวายในแมว
การตรวจสอบหรือวินิจฉัยภาวะโรคไตแมวสามารถทำได้โดย การตรวจเลือด (blood test) ตรวจปัสสาวะ (urine test) การดูภาพเอกซ์เรย์ (x-ray) หรืออัลตร้าซาวด์ (ultrasound) ของไตแมว
การตรวจเลือดและปัสสาวะจะช่วยในการตรวจดูผลการทำงานของไต เพื่อตรวจสอบฟังก์ชันการทำงานของไตแมว การตรวจเลือดสามารถบ่งบอกระดับของสารเคมีต่างๆในเลือด เช่น การมี Creatinine และ Blood Urea Nitrogen (BUN) ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นตัวบ่งชี้ของฟังก์ชันการทำงานของไตที่ลดลง การวิเคราะห์ภาพ x-ray หรือ ultrasound จะช่วยในการตรวจสอบขนาด รูปร่าง และโครงสร้างของไตแมว
การรักษาแมวเป็นโรคไต
หากตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าแมวเป็นโรคไต การรักษามีหลายวิธีการ โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ระยะของโรคไต ความรุนแรงของอาการ ตัวอย่างของการรักษาแมวเป็นโรคไต เช่น
- ให้น้ำน้ำเกลือผ่านเส้นเลือด (Intravenous fluids) แทบจะเป็นการรักษาพื้นฐานในแมวที่เป็นโรคไต ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยปรับสมดุลของเหลวในร่างกายแมว ช่วยในการขับของเสียคงค้างในเลือด ช่วยชดเชยภาวะการขาดน้ำในกรณีที่แมวไม่กินอาหาร เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนอาหารเป็นสูตรเฉพาะสำหรับแมวที่มีโรคไต (Prescription Renal Diets) ช่วยลดการทำงานของไต โดยมีโปรตีนที่มีคุณภาพสูงแต่ปริมาณน้อย และมีฟอสฟอรัสที่ต่ำ ซึ่งเป็นสารที่ไตต้องการกรองออกจากเลือด
- ยาควบคุมความดันโลหิต (Antihypertensive medications) เช่น Amlodipine ช่วยในการควบคุมความดันโลหิตที่สูง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายของไต
- ยาที่่ช่วยลดการสูญเสียโปรตีนผ่านปัสสาวะ เช่น Benazepril หรือ Enalapril ช่วยในการลดการสูญเสียโปรตีนผ่านปัสสาวะ ซึ่งเป็นอาการของโรคไต
- ยาควบคุมกรดในกระแสเลือด (Phosphate binders) เช่น Sevelamer หรือ Lanthanum ช่วยลดระดับฟอสฟอรัสในเลือด ซึ่งสูงขึ้นเมื่อไตทำงานไม่ปกติ
การป้องกันแมวเป็นโรคไต
การตรวจสุขภาพแมวเป็นประจำทุกปี เป็นวิธีที่ดีในการตรวจหาโรคไตของแมวในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะแมวที่มีอายุมากกว่า 7 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคนี้
การป้องกันไม่ให้แมวเป็นโรคไต เริ่มจากการให้แมวดื่มน้ำสะอาดและเพียงพอ การให้อาหารที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับแมว เช่น อาหารสูตรเฉพาะสำหรับแมวที่มีโรคไต ช่วยลดการทำงานของไตและป้องกันการเกิดโรคไต ควรทำความสะอาดฟัน/ขูดหินปูนแมวเป็นประจำ ระวังไม่ให้สัมผัสกับสารพิษ งดให้อาหารคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งขนมขบเคี้ยวแก่แมว เนื่องจากมักจะมีปริมาณแร่ธาตุบางอย่าง เช่น เกลือ มากเกินกว่าที่ร่างกายของแมวจะรับไหว
การป้องกันโรคไตที่จะเกิดขึ้นในแมวไม่ได้หมายความว่าแมวจะไม่มีโอกาสเป็นโรคไตเลย แต่การป้องกันและการดูแลที่ถูกวิธีสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตในแมวได้
โรงพยาบาลสัตว์ ดารินรักษ์ (Darin Animal Hospital)
214 ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29 แยก 10 (รามอินทรา 14) จรเข้บัว ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230